วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

วัตถุดิบของเราลดต้นทุนได้กว่าครึ่ง

บทคัดย่องานวิจัย
ดินในเขตแห้งแล้งจะมีเนื้อดินเป็นดินทราย และมีหน้าดินตื้น การสูญเสียธาตุอาหารซึ่งเกิดจากการชะล้าง ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การปรับปรุงคุณภาพของดินโดยการเพิ่มธาตุอาหารและวัสดุปรับปรุงดิน เพื่อยกระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารปรับปรุงดินเข้าร่วมด้วย ดังนั้นจึงได้ศึกษาอิทธิพลของปุ๋ยอินทรีย์อัตราต่างๆ ต่อประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมีกับต้นยางหลังเปิดกรีดในเขตแห้งแล้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาอัตราที่เหมาะสมของปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ใน การเพิ่มผลผลิต ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการทดลองเดือนมิถุนายน 2542-กรกฎาคม 2546 กับต้นยางพันธุ์ RRIM 600 ที่เปิดกรีดในสภาพดินร่วนเหนียวปนทราย วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block จำนวน 4 ซ้ำ ประกอบด้วย 8 กรรมวิธี คือปุ๋ยเคมีอัตราแนะนำร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 1, 2 และ 3 กก./ต้น/ปี ปุ๋ยเคมีครึ่งอัตราแนะนำร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ 3 กก./ต้น/ปี ปุ๋ยเคมีครึ่งอัตราแนะนำ ปุ๋ยอินทรีย์ครึ่งอัตราแนะนำร่วมกับสารปรับปรุงดินและปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 3 กก.ต้น/ปี โดยเปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยเคมีอัตราแนะนำ ผลการทดลอง ปรากฏว่า ปุ๋ยเคมีอัตราแนะนำร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 3 กก/.ต้น/ปี เป็นอัตราที่ทำให้ผลผลิตสูงกว่าการใส่ปุ๋ยอัตราอื่น ๆ ตลอดการทดลองและแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนจากการใส่ปุ๋ย โดยนำผลผลิตที่ได้ไปวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ พบว่าการใส่ปุ๋ยเคมีครึ่งอัตราแนะนำ (500 กรัม/ต้น/ปี) ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 3 กิโลกรัม/ต้น/ปี มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงที่สุดและให้ผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุน คือให้อัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (MRR) เท่ากับหรือมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นอัตราที่ควรแนะนำให้เกษตรกรในพื้นที่เขตแห้งแล้งใช้ต่อไป

เรื่อง อิทธิพลของปุ๋ยอินทรีย์อัตราต่าง ๆ ต่อประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมี
กับต้นยางหลังเปิดกรีดในเขตแห้งแล้ง
โดย : โสภา โพธิวัตถุธรรม
พิเชษฐ์ ไชยพานิชย์
อนุสรณ์ แรมลี
ศูนย์วิจัยยางสงขลา / กลุ่มวิจัยและพัฒนาการผลิตยาง ,สถาบันวิจัยยาง