วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ปุ๋ยสั่งตัด

ปุ๋ยสั่งตัด คือ อะไร?

การใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” คือ การใช้ปุ๋ยเคมีตามชุดดิน และ ค่าวิเคราะห์ดินปัจจุบัน ซึ่งพัฒนาโดยนำข้อมูลดิน พืช การจัดการดิน รวมทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์มาคำนวณในคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมการปลูกพืช ที่สลับซับซ้อน แต่ทำให้ง่ายสำหรับเกษตรกรนำไปใช้ คำแนะนำปุ๋ยแบบ “สั่งตัด” จะมีความแตกต่างกันในดินแต่ละชนิด เช่น คำแนะนำปุ๋ยข้าวในชุดดินอยุธยา และ ชุดดินมโนรมย์ไม่เท่ากันแม้ปริมาณ เอ็น พี เค ที่วิเคราะห์ได้ในดินเท่ากัน กรณีของข้าวโพด คำแนะนำปุ๋ย “สั่งตัด” ของชุดดินปากช่อง จ. นครราชสีมา แตกต่างจากคำแนะนำปุ๋ยของชุดดินปากช่อง จ. ลพบุรี เป็นต้น

การใช้ปุ๋ยสั่งตัด ช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าว และ ข้าวโพดได้อย่างไร และ เท่าใด?

จากผลการทดลองโครงการบูรณาการเพื่อลดต้นทุนการปลูกข้าวในเขตชลประทานภาคกลาง ที่ใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” โดย ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และหน่วยงานอีกหลายแห่ง พบว่า ชาวนาใส่ปุ๋ย เอ็น และ พี ในปริมาณมากเกินกว่าความต้องการของต้นข้าว และ ละเลยการใส่ปุ๋ย เค เมื่อเกษตรกรทดลองใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” ทำให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ขณะที่ต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีลดลง 241 บาท (เมื่อคิดราคาปุ๋ยเดือนมกราคม 2550) ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลดลง 178 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ลดลง 91 บาท รวมต้นทุนการปลูกข้าวลดลง 510 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก ถ้าชาวนาภาคกลางในพื้นที่ 10 ล้านไร่ (ปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง) ได้ใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด” จะทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนชาวไร่ข้าวโพดจะได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 35 และ ผลตอบแทนสูงขึ้นอีกร้อยละ 41 เมื่อใช้ปุ๋ยเคมีแบบ “สั่งตัด”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น